1. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
ปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันคือ
ปรัชญามุ่งศึกษาของชีวิตและจักรวาลเพื่อหาความจริงอันเป็นที่สุด ส่วนการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์และวิธีการที่พัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงาม
สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทั้งปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ
การจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายและหาคำตอบทางการศึกษา
ปรัชญาการศึกษาคือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์
ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน
ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ
ชัดเจน และสมเหตุสมผล
สามเหลี่ยมแห่งการศึกษา
โลกแห่งการศึกษาประกอบด้วย
3 ด้านหลัก ได้แก่ K = ด้านความรู้ (Knowledge), L = ด้านผู้เรียน (Learner), S
= ด้านสังคม (Social) โดยในแต่ละด้านหลักจะกำกับด้วยปรัชญาที่ใช้เป็นหลักยึดในการจัดการศึกษาต่างๆ
ดังนี้
· ด้านความรู้ (K)
o ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
(Essentialism) มีความเชื่อว่า การศึกษาควรมุ่งพัฒนาความสามารถที่มนุษย์มีอยู่แล้ว
เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถในการคิดความสามารถที่จะรู้สึก ฯลฯ การศึกษาควรมุ่งที่จะถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมกันมา
ความเชื่อความศรัทธาต่างๆ ที่ยึดถือกันเป็นอมตะ อบรมมนุษย์ให้มีความคิดเห็น และความเป็นอยู่สมถะของการเป็นมนุษย์
หลักสูตรจะยึดเนื้อหาวิชาเป็นสำคัญ เนื้อหาที่เป็นวิชาพื้นฐาน ได้แก่ภาษา วิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเนื้อหาที่เกี่ยวกับศิลปะ ค่านิยม และวัฒนธรรม
o ปรัชญาการศึกษานิรันดรนิยม
(Perenialism) มีความเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติมนุษย์คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล
ซึ่งความสามารถในการใช้เหตุผลนี้จะควบคุมอำนาจฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ เพื่อให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ปรารถนา
ดังที่ โรเบิร์ต เอ็มฮัทชินส์ กล่าวว่า การปรับปรุงมนุษย์ หมายถึงการพัฒนาพลังงานเหตุผล
ศีลธรรมและจิตใจอย่างเต็มที่ มนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังเหล่านี้ และมนุษย์ควรพัฒนาพลังที่มีอยู่ให้ดีที่สุด
การศึกษาในแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม คือ การจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรม
มีคุณธรรม และมีเหตุผล หลักสูตรที่เน้นวิชาทางศิลปศาสตร์ (Liberal arts) ซึ่งมีอยู่
2 กลุ่มคือ กลุ่มศิลปะทางภาษา (Liberacy arts) ประกอบด้วยไวยากรณ์ วาทศิลป์และตรรกศาสตร์
ซึ่งเป็นเรื่องของการอ่าน การฟัง การพูด การเขียน และการใช้เหตุผล อีกกลุ่มหนึ่งคือ
ศิลปะการคำนวณ (Mathematical arts) ประกอบด้วยเลขคณิต วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ดาราศาสตร์
และดนตรี นอกจากนี้ยังให้ผู้เรียนรู้ผลงาน อันมีค่าของผู้มีอัจฉริยะในอดีตเพื่อคงความรู้เอาไว้
เช่น ผลงานอมตะทางด้านศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีรวมทั้งผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในปัจจุบันได้แก่หลักสูตรของวิชา พื้นฐานทั่วไป (General education) ในระดับอุดมศึกษา
· ด้านผู้เรียน (L)
o ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม
(Existentialism) มีแนวคิดว่า การศึกษาคือชีวิต มิใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า
การที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจะต้องอาศัยการเข้าใจความหมายของประสบการณ์นิยม ฉะนั้นผู้เรียนจึงควรจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะแก่วัยของเขาและสิ่งที่จัดให้ผู้เรียนเรียนควรจะเป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจปัญหาชีวิตและสังคมในปัจจุบัน
และหาทางปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบัน ปรัชญานี้ต้องการให้ผู้เรียนเรียนจากประสบการณ์ในชีวิตจริง
เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม หลักสูตรจึงครอบคลุมชีวิตประจำวันทุกรูปแบบที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้ทุกรูปแบบ หลักสูตรจะเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม
ตลอดจนชีวิตประจำวัน เนื้อหา ได้แก่ สังคมศึกษา วิชาทางภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
แต่ความสำคัญของการศึกษา พิจารณาในแง่ของวิธีการที่นำมาใช้ คือ กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาในบทเรียน และนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
· ด้านสังคม (S)
o ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
(Reconstructionism) ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีแนวความคิดว่า ผู้เรียนมิได้เรียนเพื่อมุ่งพัฒนาตนเองเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคมให้สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะว่าสังคมขณะนั้นมีปัญหาต่างๆ
มากมาย ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง การศึกษาจึงมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นมาใหม่
เป็นสังคมในอุดมคติ ที่มีความเพียบพร้อม และจะต้องทำอย่างรีบด่วน เนื้อหาวิชาที่นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร
จะเกี่ยวกับปัญหาและสภาพของสังคมเป็นส่วนใหญ่จะเน้นวิชาสังคมศึกษาเช่น กระบวนการทางสังคมการดำรงชีวิตในสังคม
สภาพเศรษฐกิจและการเมือง วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ศิลปะในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีความเข้าใจในกลไกของสังคม
และสามารถหาแนวทางในการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่