ประเภทของหลักสูตร
การแบ่งประเภทของหลักสูตรเป็นการแบ่งตามแนวคิด ปรัชญา และทฤษฎีของ การศึกษา ประเภทของหลักสูตรออกได้เป็น 9 แบบ ดังนี้
|
1.หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curriculum)
การผสมผสานเนื้อหาวิชาเข้าด้วยกัน ไม่แยกเป็นรายวิชา การบูรณาการเนื้อหาวิชาจะเน้นที่ตัวเด็กและปัญหาสังคมเป็นสำคัญ การเรียนการสอนจะยึดตัวผู้เรียนและสังคมเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง การวัดผลจะเน้นพัฒนาการทุกด้านโดยเฉพาะความสามารถในการแก้ปัญหา ข้อดี คือ ผู้เรียนมีประสบการณ์ต่อเนื่อง มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ข้อเสีย คือ นักเรียนต้องมีกิจกรรมมาก ครูมักมีปัญหาในการจัดกิจกรรม
2.หลักสูตรสูญ( Null Curriculum)
เป็นชื่อประเภทของหลักสูตรที่ไม่แพร่หลายและไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก โดยไอส์เนอร์ เขาได้อธิบายถึงความเชื่อของเขาในเรื่องนี้ว่า เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีปรากฏอยู่ให้เห็นในแผนการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่ในโรงเรียนไม่ได้สอน
3.หลักสูตรแบบแกน (Core Curriculum)
หลักสูตรแบบแกนเป็นหลักสูตรที่ประสานสัมพันธ์เนื้อหาวิชาต่างๆเข้าด้วยกันมุ่งที่จะสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning สิ่งที่เรียนจะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และชีวิตของผู้เรียนเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่มาสัมพันธ์กับการเรียนรู้ได้เป็นหลักสูตรที่ยึดปรัชญาปฏิรูปนิยม สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในรูปแบบหลักสูตรที่ผ่านมา จึงดูเหมือนว่าหลักสูตรแบบแกนจะเป็นหลักสูตรที่รวมเอาลักษณะเด่นของหลักสูตรอื่นๆเข้าไว้ด้วยกันซึ่งนักการศึกษาเชื่อว่าเป็นแบบที่ดีเหมาะสมที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
4.หลักสูตรแบบรายวิชา ( The Subject Curriculum )
เป็นหลักสูตรแบบเก่าแก่ที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาการศึกษาแนวสารัตถนิยมและ นิรันตรนิยม เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ต้องการให้ผู้เรียนได้เนื้อหาวิชาความรู้มากๆ ใช้วิธีการบรรยาย เน้นครูเป็นศูนย์กลาง วิธีการประเมินผลใช้การวัดความจำเป็นส่วนใหญ่ หลักสูตรแบบนี้เน้นการสอนหนังสือมากกว่าสอนคน ข้อดี คือ ประหยัดเวลา สะดวกต่อการสอนของครู เหมาะต่อการสอนติวเพื่อสอบเข้าหรือบรรจุทำงานข้อเสีย คือ ผู้เรียนไม่มีส่วนร่วมในการเรียน ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้น
5.หลักสูตรแบบสัมพันธ์วิชา ( Correlated Curriculum)
เป็นหลักสูตรที่ต้องการปรับปรุงหลักสูตรแบบรายวิชา โดยการนำเนื้อหาวิชาที่มีความคล้ายคลึงกันมาเชื่อมโยงไว้ด้วยกัน หลักสูตรแบบนี้ยังคงเอกลักษณ์ของวิชาอยู่เช่นเดิม การสอนเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ทำให้ครูมีโอกาสวางแผนร่วมกัน การวัดผลมุ่งวัดด้านเนื้อหาวิชา ข้อดี คือ นักเรียนได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวิชา ข้อเสีย คือ หาความสัมพันธ์ของแต่ละวิชาได้ยาก
6.หลักสูตรแฝง(The curriculum)
เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้กำหนดแผนการเรียนรู้เอาไว้ล่วงหน้า และเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้ตั้งใจจะจัดให้
7.หลักสูตรเกลียวสว่าน (Spiral Curriculum)
เป็นการจัดเนื้อหา หรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น แต่มีความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้นๆจะสอนในเรื่องง่ายๆและค่อยเพิ่มความยาก และความลึกลงไปตามระดับชั้นที่สูงขึ้นไป
8.หลักสูตรกิจกรรมและประสบการณ์ (The Experience Curriculum)
เป็นการยึดเอากิจกรรม ความสนใจ และประสบการณ์แวดล้อมมาเป็นแนวทางเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวผู้เรียนมากกว่าการท่องจำ ได้แนวคิดมาจากปรัชญาพิพัฒนาการ ข้อเสีย คือ ผู้เรียนอาจได้สาระวิชาน้อย เพราะเน้นการทำกิจกรรมมาก
9.หลักสูตรกว้าง (The Brood-Field Curriculum)
มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนให้เป็นที่น่าสนใจและเร้าใจ ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถปรับตนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งให้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทุกด้าน
|