การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร
หลักสูตรของสถานศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องและสอดรับกับจุดหมายของหลักสูตร เมื่อพิจารณาธรรมชาติของหลักสูตรโดยทั่วไปแล้ว หลักสูตรของแต่ละรายวิชาจะมีจุดเน้นในด้านหนึ่งด้านใดดังต่อไปนี้
ด้านที่หนึ่ง เป็นหลักสูตรที่เน้นทางด้านวิชาการหรือพุทธิพิสัย (cognitive domain) ในลักษณะการส่งเสริมความรู้ ความคิดและสติปัญญา
ด้านที่สอง เป็นหลักสูตรที่เน้นการเสริมสร้างทักษะทางกาย ซึ่งเน้นกลไกของร่างกายในการกระทำกิจกรรมหรือทักษะพิสัย (psychomotor domain) เช่น วิชาประเภทการงานการอาชีพ การพลศึกษา นาฎศิลป์และดนตรี เป็นต้น
ด้านที่สาม เป็นหลักสูตรที่เน้นการปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม จริยธรรมและความประพฤติของผู้เรียน หรือจิตพิสัย (affective domain)
เนื่องจากวิธีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ มีลักษณะการให้ความรู้ ความเข้าใจ และการฝึกทักษะต่าง ๆ ไว้จำนวนมากและหลากหลายอยู่แล้ว จึงจะไม่อธิบายซ้ำ เพราะการสอนในสองด้านแรกเป็นการสอนที่เน้นทางด้านพุทธิพิสัยและด้านปฏิบัติหรือทักษะพิสัย ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เป็นการเรียนการสอนที่ตรงไปตรงมา ตรวจสอบหรือประเมินผลได้ชัดเจนว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อีกนัยหนึ่งก็คือสามารถบอกได้ว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้และบรรลุจุดหมายที่วางไว้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการมุ่งผลสัมฤทธิ์แห่งการเรียนรู้ของผู้เรียน การวัดและประเมินผลก็สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้โดยตรง
ส่วนการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัย เป็นการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อนกว่า เพราะเป้าหมายของการเรียนด้านนี้ต้องมุ่งถึงขั้นสามารถนำไปปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เพียงการรู้และการเข้าใจในเรื่องจริยธรรมหรือความดีเท่านั้น แต่ที่จำเป็นต้องเน้นการเรียนรู้ทางด้านจริยธรรมเป็นกรณีพิเศษ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ตระหนักถึงจริยธรรมและคุณธรรมของเยาวชนว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงกำหนดไว้ในมาตรา 81 ว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม (อักษราพิพัฒน์ 2543: 21) ส่วนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ย้ำเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ในมาตรา 24 (4)
ว่า “จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา” (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ม.ป.ป. : 13)
ตามข้อเท็จจริง การศึกษาของประเทศไทยทุกระดับได้เน้นการปลูกฝังค่านิยม จริยธรรม และคุณธรรมของผู้เรียนตลอดมา แต่การดำเนินการสอนในเรื่องดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้มากนัก เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้ทางจริยธรรมเป็นอย่างดี แต่พฤติกรรมที่แสดงออกยังมิได้สอดคล้องกับความรู้ที่มี ดังนั้นถ้าจะสอนให้นักเรียนประพฤติและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากการเรียนรู้ทางวิชาการในห้องเรียน
โคลเบอร์ก (Kohlberg,
1970 : 120 ) ได้กำหนดวิธีการสอนจริยธรรมที่ได้ผลกับนักเรียน 2 วิธี ดังนี้
วิธีแรก เป็นการสอนระดับห้องเรียน ยึดการอภิปรายปัญหาจริยธรรมเพื่อมุ่งเน้นการหาเหตุผลที่ดีในการประพฤติตนให้เป็นคนดีตามหลักจริยธรรม โดยยกกรณีปัญหาจริยธรรมมาเป็นสื่อในการอภิปราย การสอนตามวิธีการนี้ ครูต้องมีความสามารถในการดูแล กระตุ้นและตะล่อมทิศทางในการหาเหตุผลที่เหมาะสมของผู้เรียนมาประกอบการอภิปราย
วิธีที่สอง เป็นการสอนจริยธรรมจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง เป็นหลักสูตรแฝง (Hidden curriculum) ซึ่งดูเหมือนว่าโคลเบอร์กจะให้ความสำคัญแก่การสอนจริยธรรมตามแนวหลักสูตรแฝงเช่นนี้มากกว่า เช่นเดียวกับพอสเนอร์ (Posner, 1992 :11) ซึ่งให้ความสำคัญของหลักสูตรแฝงโดยกล่าวว่า หลักสูตรแฝงเป็นหลักสูตรที่บุคลากรในโรงเรียนอาจไม่ได้รับรู้อย่างเป็นทางการ แต่มีอิทธิพลโดยตรงต่อนักเรียนอย่างลุ่มลึกและยาวนานมากกว่าหลักสูตรที่เป็นทางการของโรงเรียน
นักพัฒนาหลักสูตรหลายคนเชื่อว่า หลักสูตรที่เป็นทางการไม่สามารถสอนจริยธรรมและค่านิยมให้แก่นักเรียนได้ดีเท่าหลักสูตรแฝง และเรียกชื่อหลักสูตรประเภทนี้หลายชื่อ เช่น
Implicit curriculum (Goodlad, 1984) และ Unstudied curriculum (Saylor & Alexander, 1974) ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ หลักสูตรแฝง หรือ Hidden curriculum
ในทำนองเดียวกัน นักสังคมวิทยาได้บัญญัติคำว่า
“socialization” หรือการขัดเกลาทางสังคมนำมาใช้อธิบายการเรียนรู้จริยธรรม ค่านิยมและพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนที่ใกล้ชิดกับเด็ก ว่าเป็นการเรียนรู้จากตัวแบบหรือแบบอย่างของผู้ใหญ่ เด็กจะแยกไม่ออกว่าพฤติกรรมใดดีหรือพฤติกรรมใดไม่ดี ถ้าผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี ผู้ใหญ่หรือสังคมจะต้องเสนอตัวแบบหรือตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีงามให้เด็กได้เลียนแบบ
การสอนจริยธรรมที่ไม่ได้ผลมักเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนให้เด็กปฏิบัติกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเด็กมักจะประพฤติและปฏิบัติตนตามที่ผู้ใหญ่หรือสังคมปฏิบัติกัน มากกว่าที่ครูสอนหรือที่ผู้ใหญ่ปรารถนาจะให้เด็กนำไปประพฤติและปฏิบัติ ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีพฤติกรรมแบบอย่างของผู้ใหญ่และสังคมที่ไม่พึงปรารถนาให้เห็นเป็นจำนวนมาก แบบอย่างเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสอนจริยธรรมและคุณธรรมในครอบครัว และในโรงเรียน ถ้าจะให้การสอนจริยธรรมในโรงเรียนประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ผู้บริหารและครูทุกคนในโรงเรียนต้องเข้าใจอิทธิพลของหลักสูตรแฝง และต้องร่วมใจกันสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้จริยธรรมของนักเรียน กล่าวคือ ผู้บริหารจะต้องริเริ่มและประชุมหารือกับครูและบุคลากรทุกประเภทในโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรมให้แก่นักเรียน นั่นคือ ถ้าจะสอนให้นักเรียนเป็นคนดี มีจริยธรรม ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนทุกคนต้องประพฤติตนให้เป็นผู้มีจริยธรรมก่อน มีการสร้างกฎเกณฑ์ มาตรฐานและระเบียบแบบแผนหรือวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้อและส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิบัติตนเชิงจริยธรรมของผู้เรียนให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ โรงเรียนจะต้องส่งเสริมการทำกิจกรรมพิเศษของนักเรียน เช่น โดยการจัดชุมนุม สโมสร และกิจกรรมพิเศษที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานและอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น มีความเคารพต่อกัน มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน มีความรับผิดชอบซื่อสัตย์ต่อกัน และคุณสมบัติอื่นๆ ที่ส่งเสริมความมีจริยธรรม แม้ในปัจจุบันนี้สถานศึกษาทั่วไปได้จัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ยังขาดคุณภาพและทิศทางของการจัดกิจกรรม ในโอกาสต่อไปนี้เมื่อสถานศึกษาได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินกิจกรรมการศึกษาเองทั้งหมด ตามหลักการบริหารจัดการที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ผู้บริหารและครูอาจารย์ในโรงเรียนจะต้องมุ่งมั่นและร่วมมือกันวางแผน กำหนดทิศทางและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมจริยธรรมของผู้เรียนตามแนวคิดและแนวทางที่ได้กล่าวมาแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นแนวความคิดและแนวปฏิบัติทั่วไปอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรโดยสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ เนื้อหาสาระในลำดับต่อไปจะกล่าวถึงแง่มุมและรายละเอียดของการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่นำไปปฏิบัติจริงต่อไป
ที่มา : กรมวิชาการ “การพัฒนารายวิชาสังคมศึกษาให้สอดคล้องกับท้องถิ่น” ใน หลักสูตรมัธยมศึกษา ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว 2542