การกำหนดเวลาเรียนและจำนวนหน่วยกิต
             การจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี สถานศึกษาต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในด้านการอ่าน การเขียน การคิดเลข การคิดวิเคราะห์ และการใช้คอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการสอนที่ยึดหัวข้อเรื่องจากกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์หรือสังคมศึกษาเป็นหลักตามความเหมาะสมของท้องถิ่น บูรณาการการเรียนรู้ด้วยกลุ่มสาระต่างๆ เข้ากับหัวข้อเรื่องที่เรียนอย่างสมดุล ควรกำหนดจำนวนเวลาเรียนสำหรับสาระการเรียนรู้รายปี ดังนี้

              ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ควรกำหนดจำนวนเวลาสำหรับการเรียนตามสาระการเรียนรู้รายปีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการสอนเพื่อเน้นทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน การคิดเลข และการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะช่วงชั้นที่ 1 ซึ่งจะต้องจัดให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกเพลิดเพลิน ในแต่ละคาบเวลาไม่ควรใช้เวลานานเกินช่วงความสนใจของผู้เรียน นอกจากนี้ ผู้สอนอาจจะจัดกิจกรรมเสริม เช่น การฝึกให้เขียนหนังสือเป็นเล่ม เป็นต้น
              การเรียนการสอนควรจัดกิจกรรมไปตามความสนใจของผู้เรียน ในช่วงชั้นที่ 1 ผู้สอนควรเข้าใจจิตวิทยาการสอนเด็กเล็กอย่างลึกซึ้ง สามารถบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ให้ผสมกลมกลืน ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็กโดยเฉพาะ แต่ต้องมุ่งเน้นทักษะพื้นฐานดังกล่าวด้วย สำหรับช่วงชั้นที่ 2 ผู้เรียนซึ่งได้ผ่านการเรียนการเล่นเป็นกลุ่มมาแล้ว ในช่วงชั้นนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเริ่มทำงานเป็นทีม การสอนตามหัวข้อเรื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ หัวข้อเรื่องขนาดใหญ่สามารถจัดทำเป็นหัวข้อย่อย ทำให้ผู้เรียนรับผิดชอบไปศึกษาค้นคว้าตามหัวข้อย่อยเหล่านี้ เป็นการสร้างความรู้ของตนเองและใช้กระบวนการวิจัยควบคู่กับการเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ .. 2542 แล้วนำผลงานมาเสนอในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ผลงานของกันและกันในรูปแฟ้มสะสมผลงาน
              การเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ เป็นการเรียนที่มุ่งพัฒนาความสามารถ ความถนัดและความสนใจของผู้เรียน นอกจากสถานศึกษาจะทบทวนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่าง ที่ได้เรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้แล้ว จะต้องจัดการเรียนแบบบูรณาการเป็นโครงงานมากขึ้น เป็นการเริ่มทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจการศึกษาสู่โลกของการทำงานตามความต้องการของท้องถิ่นและสังคมนวัตกรรมด้านการสอนและประสบการณ์ในการทำงานด้านต่าง แม้แต่การเรียนภาษาก็สามารถเป็นช่องทางสู่โลกของการทำงานได้ ต้องชี้แจงให้ผู้เรียนได้ทราบว่าสังคมในอนาคตจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้ สถานศึกษาจึงต้องจัดบรรยากาศให้มีสภาพแห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เป็นตัวอย่างแก่สังคม และควรจัดรายวิชาหรือโครงงานที่สนองความถนัด ความสนใจของผู้เรียนเพิ่มขึ้นด้วย
            การเรียนช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือการประกอบอาชีพ ดังนั้นสถานศึกษาควรจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งส่งเสริมความถนัดและความสนใจของผู้เรียนในลักษณะรายวิชาหรือโครงงาน

ที่มา : กรมวิชาการ  การพัฒนารายวิชาสังคมศึกษาให้สอดคล้องกับท้องถิ่นใน หลักสูตรมัธยมศึกษา ฉบับปรับปรุง ..2533  กรุงเทพมหานคร  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว  2542