รูปแบบและกระบวนการการพัฒนาหลักสูตร
การพัฒนาหลักสูตรนั้นมีแนวคิดอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน
คือ การสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมเป็นพื้นฐานอยู่เลย
และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ความหมายของคำว่า “การพัฒนาหลักสูตร”
จะรวมไปถึงการผลิตเอกสารต่างๆ สำหรับผู้เรียนด้วย (Saylor and Alexander 1974,
P.7) ซึ่งระบบการพัฒนาหลักสูตรนั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร ได้แก่
การร่างหรือพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร
ได้มีนักการศึกษาหลายท่านได้พัฒนารูปแบบหลักสูตรตามแนวคิดที่แตกต่างกัน
นำเสนอรูปแบบการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์
แบบจำลองของไทเลอร์
ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตร ไทเลอร์ให้คำแนะนำว่า
ในการกำหนดวัตถุประสงค์ทั่วไปของหลักสูตรทำได้ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
ประกอบด้วย ข้อมูลผู้เรียน ข้อมูลสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
และข้อมูลเนื้อหาสาระวิชา
นำข้อมูลจากสามแหล่งนี้มาวิเคราะห์เชื่อมโยงเพื่อช่วยให้มั่นใจในข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา
การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร
(ฉบับร่าง) ต่อจากนั้นจึงกลั่นกรองด้วยปรัชญาการศึกษาของสถานศึกษาและจิตวิทยาการเรียนรู้
ไทเลอร์มองว่า
นกการศึกษาจะต้องจัดการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับสังคม
ด้วยการยอมรับความต้องการของสังคม และในการดำเนินชีวิต
ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มุ่งปรับปรุงสังคม
ผู้สอนควรได้นำทั้งปรัชญาสังคมและปรัชญาการศึกษา มาเป็นเค้าโครงพิจารณาใน 4
ประเด็น คือ
1. ความจำและการระลึกได้ของแต่ละคน
เป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ไม่จำกัดว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ
หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
2. โอกาสเพื่อการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างในทุกระยะของกิจกรรมในกลุ่มสังคม
3. ให้การสนับสนุนของการเปลี่ยนแปลงมากกว่ามุ่งตอบความต้องการส่วนบุคคล
4. ความเชื่อและสติปัญญาเป็นดังวิธีของความคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจ
ไทเลอร์ให้ความสำคัญในการใช้จิตวิทยา
ไม่เพียงการตอบข้อค้นพบเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น
หากยังใช้จิตวิทยาในฐานะทฤษฎีการเรียนรู้ ซึ่งช่วยในการกำหนดกรอบโครงสร้างของกระบวนการเรียนรู้อีกด้วย
ไทเลอร์กล่าวถึงความสำคัญของการกลั่นกรองด้วยจิตวิทยา สรุปได้ดังนี้
1. ช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นที่แตกต่างกันและสามารถคาดหวังผลจากกระบวนการเรียนรู้หรือไม่ก็ได้
2. ช่วยให้เรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในจุดหมายที่เป็นไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนานหรือความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลในแต่ละช่วงอายุ
3. ช่วยให้ความคิดบางอย่างเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องการให้บรรลุผลตามจุดประสงค์และช่วงอายุซึ่งเป็นความพยายามสูงสุดที่จะเกิดผลดังความตั้งใจ
เมื่อผ่านการกลั่นกรองแล้ว
ไทเลอร์ให้คำแนะนำการวางแผนหลักสูตร 3 ประเด็น คือ การเลือกประสบการณ์เรียนรู้
การจัดระบบโครงสร้างประสบการณ์เรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้
ซึ่งผู้สอนต้องจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่มุ่งจะ:
1. พัฒนาทักษะการคิด
2. ช่วยให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
3. ช่วยให้ได้พัฒนาเจตคติเชิงสังคม
4. ช่วยให้ได้พัฒนาความสนใจ
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของทาบา
แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรตามรูปแบบของทาบา (Hilden
Taba) มีลักษณะจากล่างขึ้นบน (grassroots approach) โดยใช้วิธีอุปนัย
ทาบาเสนอไว้ว่า หลักสูตรควรมาจากครูผู้สอนมากกว่าผู้บริหารระดับสูง กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของทาบามีทั้งหมด 7 ขั้นตอน
ดังนี้
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์สภาพปัญหา
สำรวจความต้องการและความจำเป็นต่างๆ ของสังคม ศึกษาพัฒนาการของผู้เรียน
กระบวนการเรียนรู้ และธรรมชาติของการเรียนรู้
ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ขั้นที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 1 เป็นหลัก
ควรเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นแนวทางในการเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนรู้
ขั้นที่ 3 การเลือกเนื้อหาสาระ
ต้องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เนื้อหาที่คัดเลือกบรรจุลงในหลักสูตรจะต้องมีความสำคัญและถูกต้อง
ขั้นที่ 4 การจัดรวบรวมเนื้อหาสาระ
พิจารณาถึงความเหมาะสมในการที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ใดก่อนหลัง
ซึ่งจะต้องมีความต่อเนื่องและเป็นลำดับขั้นตอน
ขั้นที่ 5 การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
เป็นการศึกษาถึงกระบวนการเรียนรู้ และวิธีการสอนแบบต่างๆ
จะต้องวางแผนเลือกประสบการณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระและผู้เรียน
ขั้นที่ 6 การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้เลือกแล้ว
เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่บรรลุตามจุดประสงค์ที่วางไว้
ขั้นที่ 7 การประเมินผล
เป็นการพิจารณาว่าหลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด
มีปัญหาหรือข้อบกพร่องในขั้นตอนใด เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์และอเล็กซานเดอร์
เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor
and Alexander 1981, P. 30-39) ได้เสนอแนวคิดว่า
การพัฒนาหลักสูตรจะไม่ดำเนินไปในลักษณะเส้นตรง
การจะเริ่มที่ขั้นตอนหรือกระบวนการก็ได้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย
วัตถุประสงค์ และขอบเขต โดยกำหนดขอบเขตของเป้าหมายไว้4 ประการ คือ
ประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาการของบุคคล ความสามารถทางสังคม
ทักษะการเรียนรู้ และความชำนาญเฉพาะด้าน
ขั้นที่ 2 การออกแบบหลักสูตร
เป็นการตัดสินใจโดยใช้เป้าหมาย วัตถุประสงค์และขอบเขต พร้อมทั้งพิจารณาข้อมูลอื่นๆ
ประกอบ เช่น ธรรมชาติของวิชา ความสนใจของผู้เรียน และสังคม เป็นต้น
ขั้นที่ 3 การนำหลักสูตรไปใช้
เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการนำวิธีสอนต่างๆ ที่ได้ออกแบบไว้ไปปฏิบัติวิธีการสอน
รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่นำไปใช้ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการสอน
ขั้นที่ 4 การประเมินผลหลักสูตร
ผู้สอนจะต้องเลือกใช้วิธีประเมินผลแบบต่างๆ เพื่อบอกความก้าวหน้าของผู้เรียน
รวมทั้งประสิทธิภาพการสอน ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน รูปแบบการพัฒนาหลักสูตร
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของโอลิวา (Oliva)
1.จุดมุ่งหมายของการศึกษา
(Aims of Educatioj ) และหลักการปรัชญาและจิตวิทยาจากการวิเคราะห์ความต้องการจะเป็นของสังคมและของผู้เรียน
2.วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นขอุมชนที่สถานศึกษานั้นๆ
ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนในชุมชน
และเนื้อหาวิชาที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
3. เป้าหมายของหลักสูตร
(Curriculum Goals) โดยอาศัยข้อมูลจากขั้นที่ 1 และ 2
4. จุดประสงค์ของหลักสูตร
(Curiiculum Objectives) อาศัยข้อมูลจากขั้นที่ 1,
2 และ3 แตกต่างจากขั้นที่ 3 คือมีลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้หลักสูตร
และการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
5. รวบรวมและนำหลักสูตรไปใช้ (Organization
and Implementation of the curriculum) เป็นขั้นของการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
6. กำหนดเป้าหมายของการสอน
(Instructional Goals) ของแต่ละระดับ
7. กำหนดจุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน
(Instructional Objectives) ในแต่ละรายวิชา
8. เลือกยุทธวิธีในการสอน
(Selection of Strategies) เป็นขั้นที่ผู้เรียนเลือกยุทธวิธีที่เหมาะสม
9. เลือกเทคนิควิธีการประเมินผลก่อนที่นำไปสอนจริง
คือ 9A (Preliminary selection of evaluation
techniques) และกำหนดวิธีการประเมินผลหละงจากกิจกรรมการเรียนการสอนสิ้นสุด
คือ 9B (Find selection of evaluation techniques)
10. นำยุทธวิธีไปปฏิบัติจริง
(Implementation of
Strategies) เป็นขั้นของการใช้วิธีการที่กำหนดในขั้นที่ 8
11. ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน
(Evaluation of Instruction) เป็นขั้นที่เมื่อการดำเนินการจัดการเรียนการสอนเสร็จสิ้น
ก็มีการประเมินผลตามที่ได้เลือกหรือกำหนดวิธีการประเมินในขั้นที่ 9
12. ประเมินหลักสูตร
(Evaluation of curriculum) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้วงจรครบถ้วน
การประเมินผลที่มิใช่ประเมินผู้เรียนและผู้สอน
แต่เป็นการประเมินหลักสูตรที่จัดทำขึ้น
แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของวิชัย วงษ์ใหญ่
วิชัย วงษ์ใหญ่
ได้สรุปแนวคิดและขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร
โดยรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรจะเป็นฐานคิดในการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.2552
ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้
1. คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร
ใช้ข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของสังคม มากำหนดจุดมุ่งหมาย หลักการและโครงสร้าง
และออกแบบหลักสูตร โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญประกอบ
2. ยกร่างเนื้อหาสาระ แต่ละกลุ่มประสบการณ์
แต่ละหน่วยการเรียน และแต่ละรายวิชา โดยปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชา
คณะกรรมการฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาเป็นผู้กำหนดผลการเรียนรู้
จุดประสงค์ เชิงพฤติกรรมหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ วางแผนการสอน ทำบันทึก
ผลิตสื่อการสอน จัดกิจกรรมการเรียนการสอน
3. ทดลองใช้หลักสูตรในสถานศึกษานำร่อง
และแก้ไขข้อบกพร่อง
4. อบรมผู้สอน ผู้บริหาร
และบุคลากรทางการศึกษาให้เข้าใจหลักสูตรใหม่
5. ปฏิบัติการสอน กิจกรรมการใช้หลักสูตรใหม่มี
4 ประการ คือ
5.1 การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน คือจัดทำวัสดุ
สื่อการสอน
5.2 ผู้บริหารจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เช่น บุคลากร
(ครู) วัสดุหลักสูตร และบริการต่างๆ
5.3 การสอน ผู้สอนประจำการ
ทำหน้าที่ดำเนินการสอน
5.4 การประเมินผล
ประเมินทั้งผลการเรียนและหลักสูตร แล้วนำไปแก้ไข
แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model
จากการศึกษาแนวคิดของนักพัฒนาหลักสูตรทั้งต่างประเทศและในประเทศ
มีผู้สร้างแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรมากมาย เช่น โอลิวา (Oliva) ไทเลอร์ (Tyler)
เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวีส ทาบา (Taba) และวิชัย วงษ์ใหญ่ เป็นต้น
จากแบบจำลองของนักพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว
จึงสามารถสรุปเป็นแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model ดังนี้
SU Model คือ รูปแบบจำลองโลกแห่งการศึกษา
โดยประกอบด้วยวงกลม ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลแห่งการเรียนรู้ ที่มีพื้นฐานที่สำคัญ
3 ด้าน คือ 1) พื้นฐานด้านปรัชญา 2) พื้นฐานด้านจิตวิทยา และ 3) พื้นฐานด้านสังคม
ด้านสามเหลี่ยมระหว่างความรู้กับผู้เรียนมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านสามเหลี่ยมระหว่างผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานสำคัญคือ
พื้นฐานด้านจิตวิทยา และด้านสามเหลี่ยมระหว่างสังคมกับความรู้มีพื้นฐานสำคัญคือ
พื้นฐานด้านสังคม
เมื่อพิจารณาพื้นฐานด้านปรัชญาแนวคิดของการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้
(Knowledge) กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม
(Essentialism)
ซึ่งมีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และ
ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุผล
เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่มั่นคง
การพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น ผู้เรียน (Learner)
กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism)
ซึ่งมีแนวคิดที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเอง
มีแนวทางการจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
และการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น สังคม (Social)
จะกำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม
เนื่องจากสังคมมีปัญหา
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดแบบจำลอง SU Model
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร
โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
สามเหลี่ยมแรก
เป็นการวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยความรู้
(Knowledge) และสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ
มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา
เพราะว่าหลักสูตรต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน
เพื่อนำไปวางแผนและกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
หลักสูตรต้องวางแผนให้มีเนื้อหาครบคลุมในสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้และต้องเรียน
การวางแผนหลักสูตร
มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาสาระสำคัญของความรู้ในประเด็นการวางแผนหลักสูตรจากแหล่งความรู้ต่างๆให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา
แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาหลักสูตรฝึกเขียนการวางแผนหลักสูตรโดยนำสาระสำคัญมาจาก
21st Century Skills: The Challenges Ahead; A World Class Education ทักษะแห่งอนาคตใหม่:
การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเขียน
วิสัยทัศน์ (Vision) ของหลักสูตร
สามเหลี่ยมรูปที่สอง
เป็นการออกแบบ (Curriculum Design) คือการนำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
มาทำกรอบการปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน (Learner)
และสอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์ คือ
มีประสบการณ์การศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัด
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรจึงเน้นการออกแบบเนื้อหา
(Content) ประสบการณ์การเรียนรู้ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Activities)
ที่ก่อให้เกิดความรู้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ตอบสนองจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
การออกแบบหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาสาระสำคัญของความรู้ในประเด็นการออกแบบหลักสูตรจากแหล่งความรู้ต่างๆให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา
แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาหลักสูตรฝึกเขียนการออกแบบหลักสูตร
โดยนำสาระสำคัญมาจากโมเดลต้นแบบเชิงวัตถุประสงค์ (Objective Model) หรือโมเดลต้นแบบเชิงเหตุผล
การปรับปรุงโมเดลโดยฮิลดา ทาบา รูปแบบของการออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชา
เน้าผู้เรียนเป็นสำคัญ และเน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ หลักการออกแบบหลักสูตร 7
ประการของสก็อตแลนด์ แนวคิดการออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมความเป็นเลิศในการเรียนรู้และการสอนของมหาวิทยาลัยกิฟฟิธ
การออกแบบหลักสูตรรายวิชาตามแนวคิดของเวสมินส์เตอร์ เอ็กเชงจ์
มหาวิทยาลัยเวสมินเตอร์ และการออกแบบหลักสูตรด้วยแนวคิดวัตถุประสงค์เป็นฐาน
เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเขียนพันธกิจ (Mission) ของหลักสูตร
สามเหลี่ยมรูปที่สาม
เป็นการจัดหลักสูตร (Curriculum Organization) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน
(Learner), ความรู้ (Knowledge) และสังคม (Society)
ทั้งยังสอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์
คือจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ
มีความหมายรวมถึง การบริหารจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การนิเทศการศึกษา
การนิเทศการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้และบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
พร้อมกับสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข
การจัดหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนา
รวบรวมข้อมูลความรู้และทำความเข้าใจให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา
แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ยืนยันความถูกต้องและการใช้ข้อมูลใหม่
โดยนำความรู้ตามแนวคิดของออร์นสไตน์และฮันกิน ไปออกแบบเป็นหลักสูตร
สามเหลี่ยมรูปที่สี่
การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินหลักสูตร
และผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยสังคม (Society)
และสอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ
ประเมินประสิทธิ์ผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน
ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคม
การประเมินหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรให้กระจ่างแจ้ง
2. นำความรู้ที่รวบรวมได้ มาประมวลเป็นข้อมูลใหม่
โดยนำเสนอในรูปแบบสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาศึกษาแนวคิดการประเมินหลักสูตร
แล้วเลือกใช้รูปแบบการประเมินหลักสูตรตามความสนใจเมื่อผู้พัฒนาต้องการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
ผู้พัฒนาต้องใช้เครื่องมือวัดในการประเมิน เช่น แบบทดสอบความรู้ตามสภาพจริง แบบสังเกตพฤติกรรม
การประเมินการเรียนรู้โดยใช้แฟ้มสะสมงาน แล้วกำหนดเกณฑ์การประเมินโดยใช้ The SOLO
Taxonomy