การจัดทำสาระของหลักสูตร  มีขั้นตอนดังนี้
                1.1 กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และจัดเป็นผลการเรียนรู้ การกำหนดการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคควรระบุถึงความรู้ ความสามารถของผู้เรียนซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเรียนรู้ในแต่ละปีหรือแต่ละภาคนั้น
              การกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของสาระการเรียนรู้ของรายวิชาที่มีความเข้ม (Honour Course) ให้สถานศึกษากำหนดได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับการจัดรายวิชา
                1.2 กำหนดสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห์จากผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ใน 1.1 ให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นและของชุมชน
                1.3 กำหนดเวลาและหรือจำนวนหน่วยกิตสำหรับสาระการเรียนรู้รายภาค ทั้งสาระการเรียนรู้  พื้นฐานและสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษากำหนดเพิ่มเติมขึ้น ดังนี้
-       ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายปีและกำหนดจำนวนเวลาเรียนให้เหมาะสมและ  สอดคล้องกับมาตรฐานและสาระการเรียนรู้
-       ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายภาคและกำหนดจำนวนหน่วยกิตให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานและสาระการเรียนรู้
                    การกำหนดจำนวนหน่วยกิตของสาระการเรียนรู้รายภาคสำหรับช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ใช้เกณฑ์การพิจารณาที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียนมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
                    สาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มขึ้นเป็นวิชาเฉพาะของสายอาชีพหรือโปรแกรมเฉพาะทางอื่น ใช้เกณฑ์การพิจารณาคือ สาระการเรียนรู้ที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ระหว่าง 40-60 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสม และใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
             1.4 จัดทำคำอธิบายรายวิชา ทำได้โดยนำผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค สาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค รวมทั้งเวลาและจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดตามข้อ 1.1 – 1.3 นำมาเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชา ประกอบด้วยชื่อรายวิชา จำนวนเวลาหรือจำนวนหน่วยกิต มาตรฐานการเรียนรู้ และสาระการเรียนรู้ของรายวิชานั้น
                  แนวทางในการกำหนดชื่อรายวิชาคือ ชื่อรายวิชาของสาระการเรียนรู้ให้ใช้ตามชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนชื่อที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติม สามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องสื่อความหมายได้ชัดเจนและสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในรายวิชานั้น
             1.5 จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยนำสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้บูรณาการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้หน่วยย่อย เพื่อสะดวกในการจัดการเรียนรู้และผู้เรียนได้เรียนรู้ในลักษณะองค์รวม หน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยประกอบด้วย มาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ และจำนวนเวลาสำหรับการจัดการเรียนรู้ เมื่อเรียนครบทุกหน่วยย่อยแล้ว ผู้เรียนสามารถบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของทุกรายวิชา

            ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ อาจบูรณาการทั้งภายในสาระการเรียนรู้กลุ่มเดียวกัน เช่น บูรณาการสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับเคมี ชีววิทยาและฟิสิกส์ เป็นต้น และระหว่างสาระการเรียนรู้ เช่น อาจจะบูรณาการระหว่างสาระการเรียนรู้ของวิทยาศาสตร์กับสังคมและคณิตศาสตร์ เป็นต้น หรือบูรณาการเฉพาะเรื่องตามลักษณะสาระการเรียนรู้ หรือบูรณาการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียน โดยพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การจัดการเรียนรู้สำหรับหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงาน

ที่มา : กรมวิชาการ  การพัฒนารายวิชาสังคมศึกษาให้สอดคล้องกับท้องถิ่นใน หลักสูตรมัธยมศึกษา ฉบับปรับปรุง ..2533  กรุงเทพมหานคร  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว  2542